Nagy, Imre (1896-1958)

นายอิมเร นอจ (๒๔๓๙-๒๕๐๑)

​​

     อิมเร นอจเป็นนายกรัฐมนตรีฮังการีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๕๕ และเป็นคอมมิวนิสต์แนวความคิดเสรีนิยมที่มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม เขาเสนอ นโยบายปฏิรูปที่เรียกว่า "แนวทางใหม่" (New Course) เพื่อสร้างบรรยากาศเสรีและความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นด้วยการยุบเลิกค่ายกักกันแรงงานและยกเลิกมาตรการลงโทษที่ทารุณของหน่วยตำรวจลับ ยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมหนักเป็นการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเบาและเพิ่มผลผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคมากขึ้น ตลอดจนยอมให้ชาวนาถอนตัวจากระบบการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (collectivization) และอื่น ๆ นโยบายปฏิรูปดังกล่าวทำให้เขาขัดแยังกับมาตยาช ราโคซี (Màtyas Rakosi ค.ศ. ๑๘๙๒-๑๙๗๑)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี ราโคซี จึงกล่าวหาว่านอจเป็นพวกนิยมลัทธิตีโต (Titoism) และโค่นอำนาจเขาได้สำเร็จ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีต้องแต่งตั้งนอจให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้แก้ไขสถานการณ์ทางการเมือง
     นอจเกิดในครอบครัวชาวนายากจนที่เมืองคอโพชวาร์ (Kaposvár) ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๙๖ แม้เขาต้องช่วยครอบครัวทำงานตั้งแต่เล็กแต่ก็มีโอกาสได้เรียนหนังสือจนถึงชั้นมัธยมต้น ต่อมาบิดาส่งเขาไปฝึกทำงานเป็นลูกมือช่างทำกุญแจ ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Archduke Francis Ferdinand ค.ศ. ๑๘๖๓-๑๙๑๔)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีถูกลอบปลงพระชนม์ ซึ่งกลายเป็นชนวนสำคัญของสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* นอจถูกเกณฑ์เป็นทหารในกองทัพออสเตรีย-ฮังการี และร่วมต่อสู้ในแนวรบด้านกาลิเซีย (Galicia) ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เขาถูกกองทัพรัสเซียจับเป็นเชลยสงครามและจำคุกอยู่ที่ ไซบีเรียในรัสเซียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๑๗ แต่เมื่อพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ซึ่งมีวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๒๔)* เป็นผู้นำสามารถยึดอำนาจทางการเมืองในรัสเซียได้สำเร็จในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ รัสเซียได้ถอนตัวออกจากสงครามโลกและปล่อยตัวเชลยสงครามทั้งหมด นอจซึ่งหนีจากคุกได้ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๗ จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิคและเป็นทหารในกองทัพแดง (Red Army)*
     ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๑ ฮังการีซึ่งเป็นพันธมิตรกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* พยายามเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อแยกทำสนธิสัญญาสันติภาพ แต่ประสบความล้มเหลว ในช่วงที่ฮังการีกำลังเจรจาเรื่องสันติภาพอยู่นั้น รัฐบาลโซเวียตได้ปล่อยเชลยสงครามชาวฮังการีและสนับสนุนใหปัญญาชนคอมมิวนิสต์ฮังการีร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีขึ้นอย่างไม่เป็นทางการที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ นอจและเบลา คุน (Bela Kun ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๙๓๙)* ปัญญาชนคอมมิวนิสต์คนสำคัญได้ร่วมอยู่ในคณะกรรมการกลางพรรคที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นด้วย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลงในกลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ สหภาพโซเวียตส่งนอจ เบลา คุน และปัญญาชนคอมมิวนิสต์ฮังการีคนอื่น ๆ กลับประเทศเพื่อเคลื่อนไหวล้มล้างรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยฮังการี (Hungarian Democratic Republic) ที่มีมิฮาลี คารอลยี (Mihály Karolyi)* เป็นประธานาธิบดี นอจและเบลา คุนได้ร่วมมือกันจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีขึ้นในประเทศได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีกับพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democrat Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านก็ร่วมมือกันยึดอำนาจทางการเมืองและจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี (Hungarian Soviet Republic)* ได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙
     นอจดำรงตำแหน่งที่ไม่สำคัญมากนักในรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ และมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ความไม่สันทัดด้านการบริหารจัดการและการขาดแคลนบุคลากร รวมทั้งการขาดนโยบายที่ชัดเจนโดยเฉพาะการปฏิรูปที่ดิน ทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของเขาประสบความล้มเหลว เมื่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ล้มเหลวในการบริหารทั้งภายในประเทศและด้านการต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากการที่ไม่ได้รับรองจากนานาประเทศ รวมทั้งสหภาพโซเวียตไม่ส่งกองทัพมาช่วยเหลือเมื่อโรมาเนียและเชโกสโลวะเกียบุกยึดครองดินแดนฮังการี พลเรือเอก นีโคเลาส์ มิคโลชฮอร์ที เดนอจบานยา (Nikólaus Mikloś Horthy de Nagybanya ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๙๕๗)* ผู้นำกลุ่มทหารและกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมจึงเห็นเป็นโอกาสจัดตั้งกองทัพโค่นอำนาจรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จในต้นเดือนสิงหาคม นอจและแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่น ๆ ต้องหนีไปกบดานอยู่ชั่วระยะหนึ่งและเขาพยายาม จะจัดตั้งขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งแต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ เขาถูกจับแต่ต่อมาสามารถหลบหนีได้ และใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เขาเดินทางไปอาศัยอยู่ที่กรุงเวียนนาและกรุงมอสโกตามลำดับ
     ตลอดช่วงเวลา ๑๕ ปีที่กรุงมอสโก นอจทำงานสังกัดแผนกต่างประเทศฮังการีในองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International) หรือองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* ขณะเดียวกันเขาศึกษาด้านเกษตรกรรมและเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันแห่งมอสโก และทำงานเป็นสมาชิกสถาบันเพื่อการเกษตรวิทยาศาสตร (Institute for Agarian Science) และคณะกรรมาธิการนารวม แม้นอจจะเป็นคอมมิวนิสต์แต่เขาก็ชอบแต่งตัวดีและกินอยู่อย่างมีรสนิยมจนสหายคอมมิวนิสต์ชาวโซเวียตให้สมญาเขาว่า "กูลัก" (kulak) ซึ่งหมายถึงคหบดีชาวนา เพราะเขามีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนชาวนาที่มั่งคั่งทั้งมีรูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ ในกลางทศวรรษ ๑๙๓๐ นอจพบรักกับเสมียนสาวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของพรรคและต่อมาก็แต่งงานกับเธอ ในช่วงเวลาเดียวกันเขาก็ได้สัญชาติเป็นพลเมืองโซเวียตด้วย
     ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เมื่อสหภาพโซเวียตเข้าปลดปล่อยฮังการีจากการยึดครองของเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๔๔ นอจเดินทางกลับกรุงบูดาเปสต์ (Budapest) และเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีให้ได้อำนาจทางการเมืองโดยมีกองทัพแดงสนับสนุนอยู่เบื้อง หลังใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อเตรียมการเลือกตั้งขึ้น นอจดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและเขาเสนอนโยบายปฏิรูปที่ดินซึ่งทำให้นอจได้รับความนิยมจากประชาชน อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ พรรคคอมมิวนิสต์ได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ ๑๗ ในขณะที่พรรคสมอลล์โฮลเดอร์ (Smallholder Party) ซึ่งเป็นพรรคที่มีนโยบายสาย กลางและเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ก่อนสงครามได้คะแนนเสียงค่อนข้างมากและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นปกครองประเทศ แต่รัฐบาลผสมก็อยู่ในตำแหน่งเพียงเวลาอันสั้นเพราะถูกพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีสหภาพโซเวียตหนุนหลังอยู่โค่นอำนาจลง ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๔๗ พรรคคอมมิวนิสต์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและนอจได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนสภา เขาสนับสนุนนโยบายการปฏิรูปและกลายเป็นผู้นำกลุ่มคอมมิวนิสต์เสรีนิยมทั้งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวงในรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๙ พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งรวมเข้ากับพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democrate Party) เป็นพรรคสหภาพแรงงาน (United Workers' Party) กลายเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีอำนาจมากที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์ได้กวาดล้างกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม และจับคาร์ดินัลโจเซฟ มินด์เซนตี (Joseph Mindzenty)* คุมขังตลอดชีวิตเพราะเขาต่อต้านนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์ นอจคัดค้านการกวาดล้างของพรรคและต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจที่ยึดแผนเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ของสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบ เขายังต่อต้านการใช้กำลังบังคับชาวนาให้เข้าร่วมในระบบการผลิตแบบนารวมและการบังคับชาวนาให้ขายผลผลิตแก่รัฐในราคาต่ำ นอจเรียกร้องให้รัฐสร้างสวัสดิการแก่ชาวนาและให้ยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต มาตยาช ราโคซีเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นคู่ปรปักษ์ของนอจจึงโน้มน้าวโปลิตบูโรให้ขับเขาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและการเป็นสมาชิกโปลิตบูโร อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๕๑ นอจก็กลับเข้าเป็นสมาชิกโปลิตบูโรอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเขายอมวิพากษ์วิจารณ์ตนเองและยอมรับนโยบายต่าง ๆ ของพรรคที่เขาเคยต่อต้าน เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีโดยราโคซีเป็นนายกรัฐมนตรี
     หลังอสัญกรรมของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๙๕๓)* ผู้นำสหภาพโซเวียตในต้น ค.ศ. ๑๙๕๓ มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารในพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต และเกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช มาเลนคอฟ (Georgi Maksimilianovich Malenkov ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๘๘)* เลขาธิการคนที่ ๒ ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี การก้าวสู่อำนาจของมาเลนคอฟมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในฮังการีด้วย มาเลนคอฟซึ่งคุ้นเคยกับนอจมาก่อนจึงสนับสนุนเขาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนราโคซี การก้าวสู่อำนาจของนอจได้นำไปสู่การเกิดบรรยากาศเสรีและความเป็นประชาธิปไตยภายในประเทศ นอจเสนอนโยบายปฏิรูปที่เรียกว่า "แนวทางใหม่" ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๕๖ ด้วยการให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชนและนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง การยกเลิกมาตรการลงโทษที่ทารุณของตำรวจลับและยุบเลิกค่ายกักกันแรงงาน เขาสนับสนุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเบาเพื่อเพิ่มผลผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคมากขึ้นและชะลอการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก ตลอดจนการยอมให้ชาวนาถอนตัวออกจากระบบนารวมและสามารถนำเครื่องมือการผลิตของตนไปทำเกษตรกรรมได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ นอจยังปรับนโยบายต่างประเทศด้วยการคำนึงถึงผลประโยชน์ของ ประเทศเป็นหลักและใช้หลักการการยอมรับอำนาจอธิปไตย ความเสมอภาค การไม่แทรกแซงกิจการภายในรวมทั้งการหลีกเลี่ยงที่จะสังกัดทั้งค่ายคอมมิวนิสต์และค่ายประชาธิปไตย เขายังเสนอความคิดที่จะนำฮังการีออกจากสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact)* นโยบายปฏิรูปของนอจได้รับการสนับสนุนจากปัญญาชนและประชาชนมาก
     การปฏิรูปทางการเมืองของนอจได้สร้างความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี ราโคซีเลขาธิการพรรคพยายามขัดขวางนโยบายปฏิรูปและกล่าวหานอจว่าเป็นผู้มุ่งทำลายความมั่นคงของพรรคทั้งท้าทายอำนาจของสหภาพโซเวียต ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ คณะกรรมาธิการกลางพรรคซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนราโคซีมีมติประณามนอจเป็น "พวกนิยมขวา" (rightist deviation) สื่อมวลชนก็ร่วมวิพากษ์โจมตีนอจอย่างรุนแรงโดยกล่าวหาเขาว่ามีส่วนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ราโคซียังได้รับการสนับสนุนจากนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๗๑)* ผู้นำคนสำคัญของสหภาพโซเวียต ครุชชอฟซึ่งต้องการโค่นอำนาจมาเลนคอฟจึงสนับสนุนราโคซีให้เป็นผู้นำประเทศแทนนอจ เมื่อนอจล้มป่วยลง ราโคซีจึงเห็นเป็นโอกาสจัดประชุมและผ่านมติต่าง ๆ ที่คัดค้านแนวทางปฏิรูปการเมืองโดยนอจไม่สามารถคัดค้านได้ ต่อมา ในกลางเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๕ นอจก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โปลิตบูโร และคณะกรรมการกลางพรรค ราโคซีกลับมามีอำนาจและเป็นผู้นำฮังการีอีกครั้งหนึ่ง ส่วนนอจหันไปสอนหนังสือในสถาบันอุดมศึกษา
     เมื่อครุชชอฟเริ่มนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ในต้น ค.ศ. ๑๙๕๖ เพื่อกำจัดกลุ่มนิยมสตาลินในองค์กรพรรคและสร้างฐานอำนาจทางการเมืองให้มั่นคงขึ้น นโยบายดังกล่าวทำให้ราโคซีซึ่งนิยมสตาลินและแม้จะได้รับการสนับสนุนจากครุชชอฟก็ถูกกดดันให้ปรับนโยบายการปกครองที่เข้มงวดให้ผ่อนคลายลง แต่การผ่อนคลายดังกล่าวกลับทำให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปขยายตัวอย่างกว้างขวางมากขึ้น ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ ราโคซีประกาศ ดำเนินการกวาดล้างสมาชิกพรรคหัวปฏิรูปรวม ๔๐๐ คน และจับกุมนอจด้วยข้อหาเป็นผู้นำต่อต้านพรรคปัญญาชนและนักเขียนจึงรวมตัวเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนอจ ในช่วงเวลาเดียวกัน คนงาน ๕๐,๐๐๐ คนที่เมืองโพซนาน (Poznan) ประเทศโปแลนด์ก็ก่อการจลาจลขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ปรับปรุงค่าแรงและเสรีภาพทางการเมือง สหภาพโซเวียตซึ่งเกรงว่าเหตุการณ์ในโปแลนด์จะเป็นแบบอย่างแก่ชาวฮังการี จึงส่งผู้แทนมาเจรจากับราโคซีเพื่อบีบให้เขาลาออก เขายอมปฏิบัติตามโดยอ้างปัญหาสุขภาพและเดินทางไปพำนักอยู่ที่สหภาพโซเวียตตราบจนสิ้นชีวิต อย่างไรก็ตาม ราโคซีก็แต่งตั้งเอียร์โน เกโร (Erno Gero ค.ศ. ๑๘๙๘-๑๙๘๐) สหายสนิทให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคสืบแทน แต่การเปลี่ยนแปลงผู้นำดังกล่าวก็ไม่ทำให้ประชาชนพอใจ การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไปและทวีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลของเกโรไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ คณะกรรมการกลางพรรคจึงมีมติให้นอจกลับเข้าเป็นสมาชิกพรรค และคณะกรรมการกลางพรรคอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคมเพื่อหวังให้เขาช่วยแก้ไขสถานการณ์ และขณะเดียวกันก็มีมติให้กู้เกียรติทางสังคมคืนแก่ลาซโล ราซิก (Lazlo Rasik) ดเยอร์ดี ปาล์ฟฟี (György Palffy) ทีบอร์ ซอนยี (Tibor Szonyi) และอานดราช ซาลอย (Andras Szalai) แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยต่อต้านสตาลินและถูกตัดสินประหารด้วยข้อหาทรยศใน ค.ศ. ๑๙๔๙
     ข่าวความสำเร็จของวลาดิสลัฟ โกมุลกา (Wladyslaw Gomulka ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๘๒)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ในการปฏิรูปทางการเมืองโดยสหภาพโซเวียตไม่เข้าแทรกแซง ทำให้การเคลื่อนไหวต่อต้านของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ของประชาชนในฮังการีพัฒนาไปสู่ความรักชาติและการต่อต้านสหภาพโซเวียตจนกลายเป็นการลุกฮือของชาวฮังการีขึ้นในที่สุด คณะกรรมการกลางพรรคจึงจัดประชุมวาระฉุกเฉินเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ระหว่างคืนวันที่ ๒๓-๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ และมีมติแต่งตั้งนอจเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งติดต่อให้กองทหารโซเวียตที่ ประจำการบริเวณพรมแดนเข้ามาช่วยรักษาความสงบ แต่การปรากฏตัวของกองทหารโซเวียตในรุ่งสางของวันที่ ๒๔ ตุลาคมกลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม รถถังของโซเวียตได้ยิงใส่ผู้ชุมนุมบริเวณจัตุรัสรัฐสภาซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต ๑๒ คน และบาดเจ็บกว่า ๑๗๐ คน การใช้กำลังรุนแรงดังกล่าวนำไปสู่การต่อสู้ปะทะ กันทั่วกรุงบูดาเปสต์ และการต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียตได้ขยายขอบเขตไปทั่วประเทศนอจประกาศสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนโดยถือว่า เป็นการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ เขายังผลักดันให้มีการปรับคณะกรรมการกลางพรรคใหม่โดยสมาชิกที่นิยมสตาลินและหัวอนุรักษ์ถูกปลด เกโรถูกถอดจากตำแหน่งเลขาธิการกลางพรรค และยานอช คาดาร์ (Janos Kadar ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๘๙)* คอมมิวนิสต์สายกลางที่ครุชชอฟสนับสนุนได้ดำรงตำแหน่งแทน
     นอจยังประกาศยุบเลิกหน่วยตำรวจลับที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนและยืนยันให้กองทหารโซเวียตถอนกำลังทั้งหมดออกจากฮังการี ในวันที่ ๓๐ ตุลาคม นอจประกาศนิรโทษกรรมแก่นักโทษการเมืองและปล่อยตัวคาร์ดินัลโจเซฟ มินด์เซนตี เขาสัญญาที่จะปฏิรูประบบการเมืองโดยยกเลิกการปกครองโดยพรรคเดียว และจะให้ฮังการีถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ ตลอดจนจะนำธงชาติเดิมของฮังการีกลับมาใช้เป็นธงประจำชาติ รวมทั้งเปลี่ยนชื่อพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคกรรมกรสังคมนิยมฮังการี (Hungarian Socialist Workers’ Party) หลังจากที่นอจประกาศที่จะให้มีการปกครองหลายพรรคการเมืองผู้นำพรรคการเมืองสำคัญ ๆ ในช่วงก่อนเปลี่ยนการปกครองเป็นระบบสังคมนิยม เช่น พรรคสมอลล์โฮลเดอร์ พรรคประชาธิปไตยสังคม และพรรคชาวนาเปโตฟี (Petofi Peasants Party) ก็เริ่มเคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น
     ต่อมาในวันที่ ๓ พฤศจิกายน นอจประกาศรายละเอียดของรัฐบาลผสมที่เขาจัดตั้งขึ้นซึ่งประกอบด้วยผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคการเมืองอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น ๒ วัน เขาประกาศนโยบายความเป็นกลางของประเทศเช่นเดียวกับออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์และเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (United Nations)* เข้าแทรกแซงในกรณีที่ฮังการีเกิดความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต นโยบายของนอจทำให้ครุชชอฟตัดสินใจที่จะเข้าแทรกแซงเพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ครุชชอฟได้เดินทางไปกรุงเบลเกรด (Belgrade) เพื่อหารือกับยอซิบ บรอชหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียซึ่งสนับสนุนนอจให้กลับมามีอำนาจใน ค.ศ. ๑๙๕๖ โดยขอความเห็นชอบที่จะบุกปราบปรามการเคลื่อนไหวในฮังการีและล้มรัฐบาลประชาธิปไตยที่นอจจะจัดตั้งขึ้น ตีโตสนับสนุนเรื่องการใช้กำลังและสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เร่งให้สหภาพโซเวียตปราบปรามฮังการีโดยเร็ว การบุกฮังการีเริ่มขึ้นในทันทีที่สหภาพโซเวียตได้รับการยืนยันจากประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) แห่งสหรัฐอเมริกาว่าฮังการีเป็นดินแดนในเขตอิทธิพลของโซเวียตที่สหรัฐอเมริกาจะไม่เข้าแทรกแซง
     ในเช้ามืดของวันที่ ๔ พฤศจิกายน นอจออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงในนามของสาธารณรัฐประชาชนฮังการีแจ้งข่าวการบุกโจมตีกรุงบูดาเปสต์ของสหภาพโซเวียตและเรียกร้องให้พลเมืองทั่วโลกตระหนักถึงภัยคุกคามที่ฮังการีกำลังได้รับและขอความสนับสนุนช่วยเหลือ ผู้นำประเทศยุโรปตะวันตกประกาศสนับสนุนฮังการี และรัฐบาลของนอจด้วยวาจา แต่ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือด้านอาวุธและวัตถุปัจจัย รวมทั้งการแทรกแซงด้วยกำลังเนื่องจากเกรงว่าจะนำไปสู่การเผชิญหน้าที่รุนแรงระหว่างฝ่ายตะวันตกกับคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ ทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกมุ่งให้ความสำคัญในปัญหาตะวันออกกลางที่สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ มากกว่าการปฏิวัติในฮังการี กองทัพรถถังสหภาพโซเวียต ๒,๐๐๐ คันจึงบุกล้อมปราบประชาชนฮังการี หลังการปราบปรามอย่างนองเลือด สหภาพแรงงานอิสระฮังการีประกาศนัดหยุดงานทั่วไปครั้งใหญ่ แต่การชุมนุมต่อสู้ก็ถูกกวาดล้างหมดสิ้นในกลางเดือนพฤศจิกายน ประมาณว่ามีชาวฮังการี ๓,๐๐๐ คนเสียชีวิต บาดเจ็บกว่า ๑๓,๐๐๐ คน และกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คนลี้ภัยข้ามพรมแดนไปยังออสเตรียและไปตั้งรกรากในประเทศตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ส่วนทหารโซเวียตเสียชีวิต ๗๐๐ คน และบาดเจ็บกว่า ๑,๕๐๐ คน
     นอจหนีไปขอความคุ้มครองที่สถานทูตยูโกสลาเวีย แต่ต่อมาเขาถูกโน้มน้าวให้หลงเชื่อว่าสหภาพโซเวียตจะไม่จับกุมเขาและยอมให้เขาลี้ภัยนอกประเทศ ในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน นอจและผู้สนับสนุนเขาซึ่งโดยสารรถของสถานทูตเดินทางไปสนามบินก็ถูกกองทหารโซเวียตล้อมจับระหว่างทาง เขาถูกควบคุมตัวระยะหนึ่งก่อนถูกส่งไปขังคุกที่โรมาเนีย ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีคาดาร์เป็นผู้นำแถลงข่าวต่อสาธารณชนว่านอจถูกนำตัวกลับประเทศเพื่อดำเนินคดี ในการพิจารณาคดีลับ นอจถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดตั้งการเคลื่อนไหวลุกฮือของประชาชนใน ค.ศ. ๑๙๕๖ และคบคิดวางแผนต่อต้านการปฏิวัติ เขาปฏิเสธข้อหาทั้งหมดและยืนยันความจริงใจและความบริสุทธิ์ของเขาในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศาลตัดสินว่าเขามีความผิดทุกข้อกล่าวหา และให้ประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าที่กรุงบูดาเปสต์ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๘ ขณะอายุ ๖๒ ปี
     ศพของนอจถูกฝังในมุมที่ห่างไกลและลับตาในเขตที่ ๓๐๑ ในสุสานเทศบาล (Municipal Cemetery) นอกกรุงบูดาเปสต์ซึ่งไม่อนุญาตให้ทำเครื่องหมายระบุที่ฝังศพและเปิดเผยสถานที่แก่สาธารณชน อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมามีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาที่สุสานแปร์ลาแชส (Père Lachaise) ในกรุงปารีส หลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์หมดอำนาจลง อิมเร นอจได้รับการกู้เกียรติ คืนทางสังคม ทั้งได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ และมีการจัดรัฐพิธีฝังศพเขาขึ้นใหม่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๙ นอกจากนี้ งานเขียนของนอจก็ถูกนำมาคัดสรร และรวมพิมพ์ในชื่อ Imre Nagy On Communism ( ค.ศ.๑๙๙๐) ต่อมาใน ค.ศ. ๒๐๐๓ และ ๒๐๐๔ มาร์ตา เมสซาโรช (Márta Mészáros) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของฮังการีได้สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตของนอจหลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๕๖ เผยแพร่ในชื่อเรื่องว่า The Unburied Dead.



คำตั้ง
Nagy, Imre
คำเทียบ
นายอิมเร นอจ
คำสำคัญ
- นอจ, อิมเร
- คอโพชวาร์, เมือง
- พรรคบอลเชวิค
- มหาอำนาจกลาง
- ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์, อาร์ชดุ๊ก
- ราโคซี, มาตยาช
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- เมสซาโรช, มาร์ตา
- ซอนยี, ทีบอร์
- ซาลอย, อานดราช
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- เกโร, เอียร์โน
- โกมุลกา, วลาดิสลัฟ
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- มินด์เซนตี, คาร์ดินัลโจเซฟ
- สตาลิน, โจเซฟ
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- มาเลนคอฟ, เกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช
- ไอเซนฮาวร์, ดไวต์ ดี.
- พรรคสหภาพแรงงาน
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- แผนเศรษฐกิจ ๕ ปี
- องค์การโคมินเทิร์น
- ฮังการี, สาธารณรัฐโซเวียต
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- พรรคสมอลล์โฮลเดอร์
- บูดาเปสต์, กรุง
- คารอลยี, มิฮาลี
- เดนอจบานยา, นีโคเลาส์ มิคโลชฮอร์ที
- คุน, เบลา
- ลัทธิตีโต
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- เลนิน, วลาดีมีร์
- กองทัพแดง
- ปาล์ฟฟี, ดเยอร์ดี
- โพซนาน, เมือง
- ราซิก, ลาซโล
- คาดาร์, ยานอช
- ตีโต
- บรอซ, ยอซีป หรือตีโต
- พรรคกรรมกรสังคมนิยมฮังการี
- เบลเกรด, กรุง
- พรรคชาวนาเปโตฟี
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- วิกฤตการณ์คลองสุเอซ
- องค์การสหประชาชาติ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1896-1958
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๓๙-๒๕๐๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf